บอล ยอด หนังพาไป : เรื่องราวระหว่างทางของสองนักเดินทาง และการผจญภัยบนความยืดหยุ่นในชีวิต

ก่อนออกเดินทาง แค่เราแวบเข้า Google แป๊บเดียว เราก็แทบจะเห็นทุกอย่างของสถานที่นั้น ๆ เกือบทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การเดินทางก็คงไม่ต่างกับการพาตัวเองไปเพื่อยืนยันสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วก็ได้ แต่ถ้าเราเผื่อพื้นที่ว่างให้กับ ‘ความไม่รู้’ ไว้ด้วยสักครึ่งหนึ่ง เราอาจจะได้พบกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน และสนุกกับทุกชั่วขณะของการเดินทางมากยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกันกับ ‘หนังพาไป’ บอล-ทายาท เดชเสถียร และ ยอด-พิศาล แสงจันทร์ เขาสองคนได้พาผู้ชมออกเดินทางท่องเที่ยวต่างแดนในที่ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาสิบสามปี และห้าซีซั่นกับรายการของพวกเขา ภายในคอนเซปต์เที่ยวแบบประหยัด มองชีวิต เทียบกับบ้านเกิดของตนเอง เพื่อตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น ท่ามกลางระหว่างทางของเขาทั้งสองคน

บอลเล่าว่าหนังพาไปแม้จะมีมาแล้วสิบสามปี การเที่ยวต่างประเทศของเขาทั้งสองคนหากนับรวม ๆ แล้วก็คงไม่ถึงยี่สิบแห่งด้วยซ้ำ ซึ่งทุกครั้งที่ออกเดินทางต่อหนึ่งซีซั่นจะนานหลายเดือน แล้วหยุดพักเพื่อทำการตัดต่อออกอากาศอยู่อีกเป็นปี

ยอดเล่าเสริมขึ้นว่าการออกไปเที่ยวหนึ่งครั้งจะใช้ระยะเวลามากพอสมควร บวกกับขั้นตอนในการตัดต่อที่ก็ต้องใช้เวลานาน เพื่อให้มีเวลาได้ใคร่ควรญตกตะกอนกับเหตุการณ์ และสถานที่นั้น ๆ ก่อนจะถอยออกมามองตัวเองเป็นบุคคลที่สามในด้านการทำงาน

“ตอนไปผจญภัยเราก็เที่ยวเต็มที่ ผจญภัยเต็มที่ ใส่อารมณ์ให้มันเต็มที่ไปเลย แต่พอเราเอาฟุตเทจกลับมาตัดต่อ เราก็จะมองมันเป็นอีกแบบหนึ่ง มองเป็นบุคคลที่สาม ว่าไอ้คนที่อยู่ในนั้นมันไม่ใช่เรา เรามองมันแล้วต้องใคร่ครวญว่า ไอ้สองคนที่อยู่ในจอนั้น ทำไมตอนนั้นมันทำแบบนี้ และมันพูดแบบนี้เพราะเหตุปัจจัยอะไร เพื่อให้มีเวลาในการย่อยให้รอบคอบอีกครั้ง แล้วเราก็จะเห็นมุมมองหลายมุมมองเพิ่มขึ้น”

 

 

นักเดินทางผู้ชอบหนีภัย

สำหรับการเดินทางของเขาทั้งสองคน ใครต่อใครต่างก็มองว่าพวกเขาเป็นนักผจญภัย ด้วยรูปแบบเนื้อหาที่นำเสนอการเที่ยวในถิ่นที่ทุรกันดาร ใช้เงินอย่างประหยัด กิน นอน หรือแม้กระทั่งปลดทุกข์ก็ไม่ได้ดูสะดวกสบายมากนัก แต่นั่นคือความสนุกและความสุขที่ปะปนกันไปในระหว่างการเดินทาง เเต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงภาพที่คนภายนอกมองเข้ามา สำหรับบอลและยอด พวกเขามองตัวเองว่าเป็นนักหนีภัยมากว่าจะเผชิญหน้ากับมันจริง ๆ

ยอดเล่าว่าการเป็นนักผจญภัยในมุมมองของเขา คงเป็นเหล่านักสำรวจต่าง ๆ จากชาติตะวันตก รวมถึงนักมานุษยวิทยาอีกหลายแขนง พร้อมกับเหล่านักสำรวจรุ่นบุกเบิกอย่าง อองรี มูโอต์ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ตัวเขาได้เอ่ยอ้างอิง

“ถามว่าเราเป็นนักผจญภัยมั้ย… คิดว่าเป็นนักเดินทางที่ชอบผจญภัยดีกว่า แต่ว่าไม่ใช่นักผจญภัยนะเพราะเวลาเจอภัยจะหนี (หัวเราะ) ซึ่งเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่แนวนั้น นักผจญภัยมันเป็นภาพอีกแบบหนึ่งที่เรามอง แต่คนอื่นมักจะมองและบอกเราว่าเป็นนักผจญภัย พอกลับมาคิดกับตัวเอง เราว่ามันไม่ใช่ เพราะเราจะหนีภัยตลอด ส่วนใหญ่ภัยจะเข้าตัวแล้วเราต้องรีบหนี หนีให้เร็วเลยล่ะ ไม่คิดสู้ (หัวเราะ)”

ด้านบอลเล่าเสริมต่อว่า ถ้าหากเทียบตัวเขาทั้งสองคนในแง่การเป็นนักผจญภัยกับนักผจญภัยคนอื่น ๆ สำหรับเขาคิดว่ามีความแตกต่างกันมากเพราะหลาย ๆ คนมีความกล้ามากกว่า และมีการวางแผนที่รอบคอบกว่าพวกเขาทั้งสองคนเป็นหลายเท่า

“เวลาเที่ยวเราก็ชอบผจญภัยนะแต่ไม่ได้ไปถึงสเกลขนาดนั้น แต่เราก็มีความอยากรู้อยากเห็นอยู่บ้าง ชอบความปลอดภัยนิดหนึ่งแต่ถ้าสบายไปมันก็จะไม่สนุก เราคิดว่าถ้าคนที่ได้ไปเที่ยวบ่อย ๆ ความชาเลนจ์มันต้องการเยอะขึ้น อาจจะไม่ได้ไปที่สวย ๆ ง่าย ๆ เหมือนเดิมแล้ว ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามสเต็ปแต่พวกเราจะไม่ถึงระดับนักผจญภัยเหล่านั้น”

 

 

ค้นคว้าจากการพูดคุย

ณ ตอนนี้สิ่งที่สำคัญก่อนออกเดินทางนั่นคือการหาข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจสถานที่ บริบทสังคม และผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ เป็นพื้นฐาน ซึ่งต่างจากหนังพาไปในซีซั่นหนึ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวหาข้อมูลไปก่อน เพราะเขาทั้งสองคนมีความตั้งใจอยากถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตนเองให้ผู้ชมได้เห็นทั้งความตื่นเต้น ความแปลกใหม่ และอารมณ์ส่วนตัวต่าง ๆ ที่พร้อมผสมส่งมอบผ่านหน้าจอ

บอลเล่าว่ารายบางรายการท่องเที่ยวสมัยก่อนจะเน้นให้ข้อมูลดิบ เช่น การพูดเรื่องประวัติศาสตร์ ความเป็นมา บอกความสูง ความยาว ขนาด ซึ่งบางครั้งมันสร้างอารมณ์ร่วมได้ยาก จึงทำให้เรื่องราวที่ควรรับรู้กลับถูกปัดตกไม่เข้าอยู่ในหัว นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หนังพาไปในช่วงแรก เน้นไปที่อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของการที่ไปอยู่ตรงนั้น ไม่ได้เน้นข้อมูลประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลสำคัญ

“พอเรากลับจากการเดินทางหรือเล่าผ่านรายการไปแล้ว เราค้นพบว่า เอ้า ถ้าเกิดเราอ่านหนังสือไปสักนิดเดินไปหลังประตูนี้ก็จะเห็นสิ่งที่มันเจ๋งอยู่ตรงนี้นี่หว่า ซึ่งทุกคนที่เขาเที่ยวเขาไปดูตรงนี้กันหมดเลย แต่เราไม่รู้ ซึ่งเรามองข้ามไปแล้วมันก็จะมีความรู้สึก หว่า (ถอนหายใจ) มีความเสียดายอยู่เต็มไปหมด”

“ดังนั้นในซีซั่นหลัง ๆ เลยรู้สึกว่าถ้าจะไปที่ไหนสักที่เราต้องอ่านไปก่อน เพราะบางที่ที่ดูไม่ว้าวพอเรารู้ประวัติก็ทำให้เราร้องไห้ตามได้ก็มี แล้วพอกลับมาตัดต่อก็มาศึกษาอีกทีว่าสิ่งที่เราพูดไปมันถูกหรือเปล่า มีตรงไหนที่ผิดบ้าง หรือมีอะไรที่พอจะเพิ่มเติมได้อีก”

ไม่เพียงแค่หนังสือที่ใช้ในการค้นคว้า ปัจจุบันเว็บไซต์ต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ก็อำนวยความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูลสำคัญ รวมถึงการพูดคุยกับผู้คน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญมากพอ ๆ กับแหล่งข้อมูลเบื้องต้น

ยอดเล่าว่า “จริง ๆ นอกจากหนังสื่อก็อ่านในเว็บไซต์เยอะขึ้น เพราะพวกเว็บไซต์กับพวกหนังสือมันเป็นข้อมูลที่ต้องหาเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ที่น่าจะพิเศษกว่าก็คือการคุย 

คุยกับคนที่เคยได้ไป คุยกับคนที่อยากไป คุยกับคนที่ไม่อยากไป และคุยกับคนที่พลาดไป มันน่าสนใจว่าทำไม เขาไปเห็นอะไรมาก่อนหน้า เอาประสบการณ์ของเขามาลองดูว่า ถ้าเราไปแล้วเราจะเป็นแบบนี้มั้ยหรือเราจะมองเห็นต่างจากเขา หรือคนที่ไม่อยากไปเป็นเพราะอะไร มันไม่ทัชใจเขาตรงไหน

พอเข้าไปคุยกับคนมันไม่ใช่แค่เเรื่องสถานที่ เราจะรู้สึกว่าระหว่างทางการเดินทางของเขาจะมีความทรงจำกับเรื่องพวกนี้ หรือสถานที่เหล่านี้ บางทีถามเรื่องสถานที่นี้แต่เขาไปเล่าเรื่องว่าเจอแก๊งอะไรสักอย่าง เออ… มันแปลกดีนะ เราก็ได้ประสบการณ์ดี ๆ ทางอ้อมมาจากเขา เพราะบางคนไม่ได้เขียนลงไปในเว็บไซต์หรือในหนังสือซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะไม่มีวันได้อ่าน แต่ถ้าเราคุยกับคนเราจะได้ความรู้เหล่านี้เพิ่มขึ้น”

บอลเสริมต่อว่า “ข้อมูลจากคนมันจะได้เป็นอารมณ์ความรู้สึก หรือมวลความคิดน่ะ ว่ามันสำคัญกับเขายังไงเขาถึงเสียดายจนถึงทุกวันนี้ แค่นี้ก็มีมูลค่ามหาศาลแล้ว”

 

 

แผนการเที่ยวกับคติชีวิต

หลังจากหาข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะเริ่มต้นเดินทาง สิ่งสำคัญอีกข้อที่ขาดไม่ได้คือการวางแผน ซึ่งในขั้นตอนนี้แต่ละคนจะมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็วางแผนอย่างรัดกุมเพื่อให้การเดินทางไม่เจออุปสรรค บ้างก็ปล่อยไปเจอเอาดาบหน้ากล้าจะลุยและชน แต่สำหรับบอลและยอดพวกเขากลับมีความยืดหยุ่นทั้งความรัดกุมและการพาตัวเองไปเจอเรื่องราว

บอลบอกว่า “พวกเราวางแผนเที่ยวไม่ได้วางแผนถ่ายงาน เพราะเราจะเอาเที่ยวเป็นหลักว่าอยากไปเมืองไหน มีที่ไหนเราสนใจบ้าง หาที่กินที่ไหน นอนที่ไหน เดินทางยังไง ส่วนเรื่องการถ่ายทำค่อยมาคิดหลักจากที่เราเห็นว่าเราอยากจะไปไหนบ้าง

การเที่ยวแบบถ่ายไปด้วยก็จะต่างจากการเที่ยวปรกติใช้เวลาในแต่ละที่เยอะขึ้น ให้เวลากับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่มันจะเกิดขึ้น เช่นจะเว้นเวลาไว้สักวันสองวันเผื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินใด ๆ และเราต้องปรับแผนตลอดเวลา การเที่ยวของพวกเราก็จะเป็นแบบนี้ซึ่งรู้สึกว่ามันต้องยืดหยุ่น 

เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นบางเมืองเราตั้งใจจะไปดูบางอย่างแต่ไปถึงเล่าเรื่องไม่ได้เลยก็มี บางเมืองที่ไม่ได้อยู่ในแผนก็จะเล่าเรื่องได้เป็นตอน ๆ มันก็เลยจำเป็นต้องยืดหยุ่น แล้วต้องถ่ายไปเรื่อย ๆ และค่อยมาหาวิธีการเล่า ซึ่งยืดหยุ่นตั้งแต่การเดินทางจริง เปลี่ยนแผน ปรับแผนการเดินทางได้หมด รวมทั้งกลับมายืดหยุ่นในการเล่าเรื่องตัดต่อ (ยิ้ม)”

ยอดเล่าเสริม “มันก็สไตล์การทำงานเราแหละ คือการออกไปถ่ายไม่ต้องคิดว่าจะต้องได้อะไร หรือคิดไว้คร่าว ๆ ว่าจะไปที่นี่แล้วผจญกับมันเหมือนจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็พร้อมรับตลอด

เวลาเอามาตัดต่อเล่าเรื่องก็ต้องให้เรื่องมันพาไป ไม่ได้บังคับว่าต้องไปที่ไหน ไปจบที่ไหน หรือตรงนี้ต้องได้อะไร เป็นหลักการทำงานและเหมือนหลักการการใช้ชีวิต… ไม่ค่อยมีสาระ (หัวเราะ) ทำอะไรไม่ค่อยสำเร็จ ยืดหยุ่นไปได้เรื่อย ๆ”

บอลกล่าว “จุดหมายปลายทางอาจไม่ใช่ที่สุดของความงดงาม เพราะเราคาดหวังปลายทางไม่ได้”

แม้บอลจะสรุปเรื่องที่พูดก่อนหน้าด้วยประโยคปิดท้ายคลิปของหนังพาไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ เเต่ประโยคนี้ก็ช่วยตอกย้ำให้พวกเขาทั้งสองคนตระหนักว่าสิ่งสำคัญจริง ๆ มันคือระหว่างทาง

ยอดเล่าว่า “เรื่องระหว่างทางด้วยแหละที่มันสำคัญ เพราะบางทีระหว่างทางอาจจะมีเรื่องให้เล่าและก็ประทับใจมากกว่าจุดหมายที่เราจะไปถึง”

บอลเสริมต่อว่า “ถ้าจะเอาประโยคนี้มาใช้กับชีวิต มันจะลดความกดดันในการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้ ซึ่งแน่นอนทุกคนมีเป้าหมายของแต่ละคนอยู่แล้วละ แต่ถ้าเราไปไม่ถึงล่ะ หรือถ้าเราตายก่อนที่จะไปถึงล่ะ มันจะไม่ได้อะไรเลยเหรอ ทั้ง ๆ ที่เราก็ทำให้ทุก ๆ วันของเรามีความสุขได้ ไม่ต้องรอให้ถึงปลายทางหรอก”

ยอดยิงมุกตบท้าย “แต่มันก็มีข้อเสียนะ… ให้เราไม่ค่อยได้งาน ทำไปเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ประสิทธิภาพไม่มี (หัวเราะ)”

 

 

นิสัยที่แท้จริงระหว่างทางเดิน

มีคนเคยบอกว่าถ้าเราอยากจะรู้จักใครสักคนอย่างจริงจังต้องพาคนนั้นไปลำบาก โดยเฉพาะความลำบากที่เกิดขึ้นระหว่างเดินทาง

บอลได้ให้ความเห็นไว้ว่าคนที่จะเที่ยวด้วยกันได้ต้องรู้ใจกันประมาณหนึ่ง หรือมีความเชื่อมโยงกันในบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้ต่อกันติดในเรื่องที่ใกล้กัน แต่ถ้าแตกต่างกันมากเกินไป การเดินทางก็จะไม่มีความสนุกเกิดขึ้นเลย 

ซึ่งความลำบากที่ว่าไว้ตอนต้นก็อาจเป็นเรื่องจริง เพราะเครื่องยืนยันจากประสบการณ์ของยอด ผู้ซึ่งเคยพาเพื่อนสนิทออกเดินทางตามสไตล์ของเขาก็ได้เห็นนิสัยของกันจากการเดินทาง

“เอาจริง ๆ เพื่อนที่สนิทกันเองเราก็ไปรู้นิสัยกันตอนเที่ยวนะ เราคิดว่าเราอาจจะสนิทกันจริงเพราะว่าเราคบกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม แต่พอไปเที่ยวด้วยกันเราพบว่าเรามีความแตกต่าง ถ้าไปเที่ยวสไตล์เราแล้วให้เรานำ เราก็จะพาอยู่แบบอะไรก็ได้ แล้วเรารู้สึกว่าระหว่างทางมันสำคัญกว่ามาก ไหนจะวิวที่มันสวยมาก ๆ แต่เขามาบ่นว่าแอร์ไม่มี เดินทางก็ลำบาก ทำไมต้องมาขับมอไซค์ตอนฝนตกอะไรอย่างนี้

เห้ย อันนี้สนุกจะตาย มันเป็นความประทับใจก่อนที่เราจะไปถึงจุดหมาย ซึ่งการไปเที่ยวก็ทำให้เรารู้นิสัยกันจริง ๆ และก็ได้ข้อสรุปว่าเราก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้เหมือนเดิมแหละ แต่เราไม่ควรไปเที่ยวด้วยกัน แค่นั้น (หัวเราะ)

แต่บางคนเรารู้สึกว่าเราไม่สนิทกับเขาเลย พอไปเที่ยวด้วยกันเรารู้สึกว่า เอ้ย… เขาชอบแบบนี่ว่ะ เขาประทับใจกันแบบนี้ว่ะ ไปด้วยกัน ลุยด้วยกัน หัวเราะด้วยกัน เราก็รู้สึกประทับใจ มันเป็นความทรงจำที่ดีที่เราได้เที่ยวด้วยกัน”

บอลเสริมต่อ “หรือถ้าการเดินทางไม่เป็นไปทางเดียวกันก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันหน่อยเพื่อเปิดใจเรียนรู้ อย่างพวกเราจะเน้นประหยัด เที่ยวลำบาก ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเราเที่ยวหรูไม่ได้ ไปเที่ยวสบาย ๆ ไม่ได้ ซึ่งเพื่อนที่พี่ยอดยกตัวอย่างมาเขาอยากเที่ยวสบาย แต่พอลงมาลองเที่ยวที่มันลำบากหน่อยเขาอาจจะไม่พร้อม แค่นี้มันไม่มีใครผิดเลยนะ แค่ไม่เข้ากัน”

ยอดพูดตบท้าย “แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเรียนรู้กันไม่ได้ แต่ว่า… พักก่อน (หัวเราะ)”

 

 

สิ่งสำคัญของการเดินทาง

ระยะเวลาสิบสามปีที่ผ่านมาของนักเดินทางทั้งสองคนย่อมต้องมีเรื่องเล่า และประสบการณ์ ทั้งความเจ็บปวด ความสุข และความทุกข์ปะปนกันไปในทุกขณะระหว่างทาง แต่สิ่งที่ทั้งสองได้รับและมองว่านี่คือความยิ่งใหญ่ของชีวิต คือการมองโลกที่หลากหลายโดยไม่ตัดสินมากยิ่งขึ้น

ยอดเล่าว่า “การเดินทางมันให้เรื่องการเติบโตจริง ๆ ถ้าเทียบเราในตอนนี้กับเราในสมัยที่เริ่มออกเดินทาง เราจะรู้สึกได้เลยว่าเรามองโลกต่างออกไปมาก ตอนนั้นเราอาจจะมีข้อดีที่กล้าฟันธง กล้าตะลุย หรือผจญภัยได้ดีกว่านี้ แต่ตอนนั้นมุมมองของเรามันแคบมาก เรายังรู้สึกว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในโลกในทุก ๆ ด้าน อาจจะไปด้วยทัศนะคติมองโลกแบบนั้น แต่พอเราเดินทางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไอ้ตัวเราที่พูดแบบนี้สมัยนั้น ตาย (เน้นเสียง) มันไม่ได้เลย

เราได้เรียนรู้ว่าโลกเรามันมีความหลากหลาย เพราะเมื่อมายาคติที่ครอบตัวเราถูกเปิดประตูออก มันก็ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเราถึงเข้าใจโลกแบบนั้น ทำไมเรารู้สึกแบบนั้น ทำไมเราถูกปลูกฝังมาแบบนั้น

แล้วก็เข้าใจได้ว่าทำไมตอนนี้เราถึงคิดแบบนั้น เพราะว่าเราไปเห็นโลกมา ได้เรียนรู้ ได้ใคร่ครวญ ได้ตอบอะไรบางอย่างกับสิ่งเหล่านี้ กับปัญหาแบบนี้ และพอเราเปิดประตูไปปุ๊บมันก็เปิดลึกอีก ลึกอีก ลึกอีกเลยล่ะ

ลึกขนาดแบบถอนรากถอนโคนว่าใครทำให้เราเป็นแบบนี้ ทำไมเราต้องเติบโตมาในลักษณะการคิดแบบนี้ มันมีประโยชน์แบบไหน มันเอื้อกับใคร แต่ตอนนี้เราสามารถพัฒนาหรือทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร มันอาจจะได้มุมมองที่ทำให้เรามองกว้างขึ้น ได้มองโลกในมุมมองของจักรวาล (หัวเราะ) ตอนนั้นเราอาจจะอยู่ในประเทศไทยแล้วเรามองมันในระดับระนาบเดียว แต่ตอนนี้เราก็ขึ้นไปมองแบบ Bird eye view ให้มากขึ้น”

บอลเล่าเสริมต่อว่า “ของเราก็คล้าย ๆ กับของพี่ยอดนะ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกถึงความแตกก็คือ งานที่เราทำมันบังคับให้ต้องทันยุคทันสมัย ในขณะที่เพื่อนบางคนชีวิตการทำงานของเขาทำให้หลาย ๆ เรื่องเขาเลิกตั้งคำถามไปแล้ว หรือเขาไม่ได้สนใจจะคิดมันต่อแล้ว บางเรื่องเขาก็ตกประเด็นไปเลย เพราะมันไม่ถูกชาเลนจ์ในการตั้งคำถามเลยในชีวิตประจำวันของเขา

แต่หนังพาไปมันแตะทุกเรื่อง ไปเจอเรื่องที่เราไม่เคยรู้ แล้วตัวเราเองก็ต้องตั้งคำถามในการเล่าเรื่องว่าจะเล่าแบบไหน เดี๋ยวต้องเจอประวัติศาสตร์เรื่องแบบนี้ ดำดิ่งเรื่องปัญหาการเมืองแบบนี้ เรื่องขนส่งสาธารณแบบนี้ หนังพาไปมันพาเราไปแตะทุกเรื่อง และหลาย ๆ เรื่องมันก็จะต่อไปเป็นจิ๊กซอว์ในเรื่องที่เราเคยเจอ โอ้ มันใช่สิ่งนี้ และเราก็เริ่มมองภาพกว้างขึ้น

สิ่งนี้เลยทำให้เรายังคุยกับหลาน ๆ ได้ คุยกับเด็กยุคใหม่ ๆ ได้ มันชาเลนจ์เราตลอดเวลาด้วยงาน วิธีการเล่าเรื่องเราก็ต้องตามมันให้ทัน และก็ขอบคุณตัวเองที่หนังพาไปมันพาเราไปแตะทุกเรื่องเยอะแยะเต็มไปหมด มันเหมือนได้พาเราอ่านหนังสือเล่มที่ปรกติไม่คิดจะหยิบอ่าน แต่งานมันพาเราไปแตะเราก็ต้องหยิบเรื่องนี้มาอ่าน 

สุดท้ายแล้วเราจะเชื่อมโยงมันได้เยอะขึ้น แล้วมันก็จะสนุกขึ้นเรื่อย ๆ ว่าประตูบานนี้ไปต่อกับประตูบานนั้น แล้วประตูบานนั้นก็ไปต่อกับประตูบานนั้น ๆ และก็จะตื่นเต้นว่าในอนาคตประตูบานไหนมันจะเชื่อมต่อกันอีก ถ้าเรายังทำงานนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

 

 

เมื่อถามถึงสิ่งสำคัญของการเดินทางของทั้งสองคน เขากลับนิ่งคิดแล้วพิจารณาถึงเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมา ก่อนที่ยอดจะพูดขึ้นว่า

“สิ่งสำคัญของการเดินทางสำหรับพวกเราน่ะเหรอ… (นิ่งคิด) ก็ต่อนยอนไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ) 

คิดได้ตอนนี้ ตอบแบบเท่ ๆ เหมือนเราเป็นแก้วน้ำ เมื่อเราเดินทางเราจะพยายามเทน้ำออกให้เยอะที่สุดและจะไม่พยายามเป็นน้ำเต็มแก้ว นั่นก็จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับเรา

แต่เราจะไม่เทมันหมดนะอาจจะเหลือแค่ครึ่งเดียว อย่างน้อยมันมีพื้นที่อีกครึ่งหนึ่งที่พอจะให้เราใส่อะไรเข้าไปได้ แล้วได้เรียนรู้อะไรเพิ่มมากขึ้น แต่เราจะไม่เป็นน้ำที่ล้นแก้ว เราต้องเหลือพื้นที่ว่างให้ได้เรียนรู้หรือไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น หรือไปรับอะไรที่มันจะเกิดขึ้นข้างหน้าได้ และไปปรับตัวให้พร้อมในตรงนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปแบบน้ำเต็มแก้วจะผิด เพราะถ้าเขาวางแผนได้ถูกต้อง เขาก็สามารถไปได้และเขาก็จะอยู่ของเขาได้

แต่สำหรับพวกเราคือทำภาชนะของตัวเองให้ว่างเข้าไว้ หรือมีพื้นที่ว่างให้ได้มากที่สุด เพื่อไปรับสิ่งใหม่ ๆ ไปเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ข้างหน้า”

บอลเสริมต่อปิดท้ายว่า “จริง ๆ ถ้าเอาสิ่งที่พี่ยอดพูดมาอธิบายการวางแผนเที่ยวของเราก็จะใช้หลักการนี้โดยไม่รู้ตัว เช่น ตอนนี้เราจะไปเมืองนี้ เป็นโบสถ์ชื่อดังมากใคร ๆ ก็ต้องไป นั่งหาข้อมูลเปิดกูเกิลแมปมันพาเราไปเห็นทุกซอกมุมของสถานที่นั้นหมดเลย ทั้งภาพข้างหน้า ภาพข้างใน จนบางที่เราแทบจะไม่ต้องไปเลยก็ได้

ตอนนี้โลกมันไปไกลแล้ว พอเราวางแผนเที่ยวเราจะต้องยั้งตัวเองอยู่เสมอ อย่าไปรู้มันทั้งหมด ถ้าเราอยากไปจริง ๆ ค้นแค่พอให้เราเหลือพื้นที่ได้ไปว้าวกับมันจริง ๆ ตรงนั้น หรืออาจจะไม่ว้าวก็ได้นะ ไม่เป็นไร

แต่ถ้าเรารู้ทุกเรื่องทั้งหมด การเดินทางไปที่นั่นมันก็แค่เหมือนกับเป็นการยืนยันสิ่งที่เราเที่ยวในกระดาษเสร็จแล้ว เราก็แค่พาตัวเองไป แล้วยิ่งเราไปถ่ายรายการมันก็เหมือนกับไปเล่นละคร ไปถ่ายละครตรงนั้น หูย ว้าว พี่ยอด (ทำท่าทีตื่นตา) แต่จริง ๆ กูเห็นจากกูเกิลมาหมดแล้ว ซึ่งเวลามีสถานการณ์แบบนี้หน้ากล้อง มันก็จะถูกตัดทิ้งไปเสมอเลย เพราะเราเล่นไม่เนียน 

ดังนั้นเรื่องน้ำครึ่งแก้วก็เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการวางแผนเดินทางของเราจริง ๆ ซึ่งเราควรรู้แค่ครึ่งเดียว แล้วปล่อยให้เราไปเจอมันตรงนั้นและค่อยไปเล่าความจริง”